วันพุธที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2553

แก้ข่าวหอมแดงที่ อ.ราษีไศลเกิดโรคระบาด



จังหวัดศรีสะเกษเป็นแหล่งปลูกหอมแดงขนาดใหญ่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีเนื้อที่เพาะปลูกมากกว่าร้อยละ 70 ของพื้นที่เพาะปลูกของทั้งภาค หอมแดงศรีสะเกษมีคุณลักษณะพิเศษ คือ เปลือกมีสีแดงเข้ม ด้านในมีสีม่วง กลิ่นฉุนแรง เก็บรักษาได้ยาวนานเกษตรกรนิยมปลูกหลังจากช่วงเก็บเกี่ยวข้าวนาปี แหล่งที่เพาะปลูกที่สำคัญของจังหวัด คือ อำเภอยางชุมน้อย อำเภอราษีไศล อำเภอกันทรารมย์และอำเภอวังหิน ในปีเพาะปลูก 2552–2553 จังหวัดศรีสะเกษมีเนื้อที่ 28,771 ไร่ ได้ผลผลิตรวม 86,313 ตัน ผลผลิตต่อไร่ 3,018 กิโลกรัม มีเกษตรกรผู้ปลูกหอมแดงจำนวน 10,690 ราย และ อ.ราษีไศลมีศักยภาพในการผลิตหอมแดงสูงที่สุดโดยมีผลผลิตรวมและผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ที่ 29,771.75 ตัน และ 3,450 ตันต่อไร่ ตามลำดับ

สืบเนื่องจากศูนย์วิจัยพืชสวนศรีสะเกษ ได้รับหนังสือที่ ศก 0509/856 ลงวันที่ 24 ธันวาคม 2553 ของสำนักงานเกษตรอำเภอราษีไศล เรื่อง ขอความอนุเคราะห์ตรวจวิเคราะห์ตัวอย่างหอมแดงของเกษตรกรผู้ปลูกหอมแดง ตำบลส้มป่อย อำเภอราษีไศล จังหวัดศรีสะเกษ พร้อมตัวอย่างต้นหอมแดงเพื่อประกอบการวิเคราะห์ นอกจากนี้ยังมีเผยแพร่ข่าวทางเวปไซต์http://kaodee.com/read/kaodee.wc/?id=1ffcff7796c98e2a345d31e5507830fd&ch=34&c=17 โดยรายงานว่าต้นหอมแดงที่ปลูกไว้ทั้งแปลงได้เน่าตาย โดยสังเกตเห็นเริ่มจากใบเหี่ยว รากไม่เจริญเติบโตและแห้งตายในที่สุด ทางเกษตรกรสันนิษฐานว่าอาจเกิดจากการติดเชื้อและระบาดทั่วทั้งแปลง

นักวิชาการเกษตรของศูนย์ฯ ได้ทำการตรวจดูลักษณะภายนอกของต้นหอมแดงด้วยตาเปล่า พบว่า หอมแดงมีลักษณะใบแห้งไหม้ แต่ไม่พบอาการและเชื้อสาเหตุโรค หลังจากนั้นได้เก็บตัวอย่างหอมแดงที่ได้รับในกล่องชื้น เพื่อสังเกตอาการของโรคแต่ไม่พบเชื้อสาเหตุของโรคหอมแดงแต่อย่างใด จึงรีบลงพื้นที่เพื่อไปหาสาเหตุ เบื้องต้นมีข้อสังเกตดังนี้
1.แปลงของเกษตรกรได้รับความเสียหายทั้งแปลงมีพื้นที่ปลูก 1 ไร่ โดยใบของต้นหอมแดงเหี่ยวแห้งทั้งต้นและเมื่อขุดหัวหอมแดงขึ้นมาพบว่าบางหัวเน่า มีเชื้อราและหนอน แต่มีอีกหลายหัวที่ไม่พบอาการเน่า กลับมีการแตกยอดใหม่ขึ้นมา
2.เมื่อสังเกตแปลงหอมแดงที่อยู่ข้างเคียงอีก 3 แปลง พบว่าไม่มีอาการในลักษณะเดียวกัน
3.สอบถามเกษตรกรทราบว่าช่วงระหว่างปลูก(เกษตรกรปลูกหอมแดงเมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน) ได้มีการพ่นด้วยน้ำหมักชีวภาพที่หมักจากปลาร่วมกับน้ำส้มควันไม้ อัตรา 500 ซีซีต่อน้ำประมาณ 75 ลิตร(ถังพลาสติกสีฟ้าขนาดจุ 150 ลิตร ใช้น้ำผสมเพียงครึ่งถัง) พ่นทุกสัปดาห์ติดต่อกัน 3 ครั้ง โดยในการพ่นครั้งที่ 2 สังเกตว่าใบหอมแดงเหี่ยว มีใบแห้ง และในการพ่นครั้งที่ 3 สังเกตว่าใบเหี่ยวแห้งและมีการแตกยอดใหม่ เมื่อใส่ปุ๋ยเคมี(เกษตรกรใส่ปุ๋ยเคมีไปแล้วจำนวน 3 กระสอบ) และรดน้ำ พบว่าต้นหอมแดงหัวเน่าเละมากกว่าเดิม
จากข้อสังเกตดังกล่าว จึงสรุปได้ว่า หอมแดงของเกษตรกรที่ตำบลส้มป่อย อำเภอราษีไศล จังหวัดศรีสะเกษ เกิดใบไหม้ทั้งแปลงไม่ได้เกิดจากการระบาดของโรค แต่เป็นการใช้สารที่ระดับความเข้มข้นมากเกินไปพืชจึงได้รับความเสียหาย ส่วนการเกิดเชื้อราและหนอนในหัวที่เน่าตายนั้นเกิดขึ้นภายหลังจากใบของหัวหอมถูกทำลายแล้ว

วิเคราะห์สาเหตุของปัญหา ดังนี้
1.การใช้น้ำหมักชีวภาพที่หมักปลาร่วมกับน้ำส้มควันไม้ เนื่องจากน้ำส้มควันไม้มีฤทธิ์เป็นกรด (
pH ประมาณ1.5 –3.7) จำเป็นต้องมีการเจือจางเพื่อใช้ในวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกันไป เช่น เจือจาง 20 - 50 เท่า เพื่อใช้ในการฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ในดินก่อนปลูกพืชประมาณ 10 วัน แต่โดยทั่วไปเกษตรกรมักทำการเจือจาง 200 เท่าเพื่อใช้ทั้งการพ่นทางใบและการรดลงดิน ซึ่งในกรณีนี้สามารถทำได้ในพืชทั่วๆ ไป แต่การพ่นทางใบของหอมแดงควรเจือจาง 500 – 800 เท่า ข้อควรรู้อย่างหนึ่งของน้ำส้มควันไม้คือ น้ำส้มควันไม้ไม่ใช่ธาตุอาหาร เป็นเพียงสารเพิ่มประสิทธิภาพของการใช้สารเคมีและปุ๋ยเท่านั้น และเนื่องจากมีคุณสมบัติเป็นกรดจึงช่วยควบคุมการเติบโตของเชื้อจุลินทรีย์ในดินและบนต้นพืชได้เมื่อใช้ในระดับการเจือจางที่เหมาะสม นั่นคือก่อนใช้สารควรทราบอัตราส่วนที่ชัดเจน และวิธีการใช้ว่าควรรดลงดิน พ่นทางใบ หรือผล เป็นต้น เพื่อไม่ให้เป็นอันตรายกับพืชและเกิดประโยชน์คุ้มค่าที่สุด นอกจากนี้การใช้ประโยชน์น้ำหมักชีวภาพในพื้นที่การเกษตร ในพืชผัก อัตราแนะนำ คือ 8 ช้อนโต๊ะ (80 ซีซี)ต่อน้ำ 4 ปี๊บ(80 ลิตร) ในพื้นที่ 1 ไร่ โดยพ่นหรือรดลงดิน ใบของหอมแดงมีลักษณะอ่อนและอวบน้ำ การได้รับสารที่มีความเข้มข้นสูงมากเกินไปจะไปทำลายโครงสร้างของใบหอม อีกทั้งการใช้ปุ๋ยน้ำชีวภาพที่หมักจากเศษปลาจะมีธาตุไนโตรเจนค่อนข้างสูง เมื่อใช้ในระดับความเข้มข้นที่สูงก็จะทำให้เป็นอันตรายเช่นกัน
2.การใช้ปุ๋ยเคมีมากเกินความจำเป็น หอมแดงซึ่งเป็นพืชอวบน้ำอยู่แล้ว เมื่อได้รับปุ๋ยในปริมาณมากก็จะมีการเจริญเติบโตทางใบมากกว่าปกติ จนทำให้อ่อนแอต่อการกระทบของสารเคมี เกษตรกรควรมีความระมัดระวัง และใช้ปุ๋ยเคมีตามค่าการวิเคราะห์ดิน ซึ่งกลุ่มวิจัยปฐพีวิทยา สำนักวิจัยและพัฒนาปัจจัยการผลิตทางการเกษตร กรมวิชาการเกษตร ได้แนะนำไว้ดังนี้

ค่าวิเคราะห์ดิน

ใส่ปุ๋ย N (กก./ไร่)

ปริมาณ OM

น้อยกว่า 1.5 %

15


1.5-2.5 %

10


มากกว่า 2.5 %

10

ค่าวิเคราะห์ดิน

ใส่ปุ๋ย P2O5 (กก./ไร่)

ฟอสฟอรัส (P)

น้อยกว่า 10 มก./กก.

15


10-20 มก./กก.

10


มากกว่า 20 มก./กก.

5

ค่าวิเคราะห์ดิน

ใส่ปุ๋ย K2O (กก./ไร่)

โปแตสเซียม (K)

น้อยกว่า 60 มก./กก.

15


60-100 มก./กก.

10


มากกว่า 100 มก./กก.

5














ตัวอย่างเช่น ผลการวิเคราะห์ดินในแปลงมีปริมาณ OM น้อยกว่า 1.5 % มีฟอสฟอรัส (P) น้อยกว่า 10 มก./กก. และมีโปแตสเซียม (K) น้อยกว่า 60 มก./กก. ควรใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 จำนวน 2 กระสอบต่อไร่ตลอดฤดูกาลผลิต
เอกสารอ้างอิง
1.โครงการการใช้ปุ๋ยเคมีอย่างมีประสิทธิภาพ. กลุ่มวิจัยปฐพีวิทยา สำนักวิจัยพัฒนาปัจจัยการผลิตทางการเกษตร
กรมวิชาการเกษตร,2551, 53 หน้า.
2.คู่มือการพัฒนาที่ดินสำหรับหมอดินอาสาและเกษตรกร. กรมพัฒนาที่ดิน. 2553, 236 หน้า.
3.สืบค้นจาก
http://www.rdi.ku.ac.th/news_announce/kurdi/Year_48/15/Woodvinegar.pdf
4.สืบค้นจาก http://www.charcoal.snmcenter.com/charcoalthai/charcoal_fun3.php
จิรภา ออสติน นักวิชาการเกษตรชำนาญการ
รัชนี ศิริยาน นักวิชาการเกษตรชำนาญการ
อรรถพล รุกขพันธ์
นักวิชาการเกษตรปฏิบัติการ
ศูนย์วิจัยพืชสวนศรีสะเกษ

งานกาชาดจังหวัดศรีสะเกษ





ศูนย์วิจัยพืชสวนศรีสะเกษ ได้ร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ในจังหวัดศรีสะเกษ ที่สังกัดกระทรวงเกษตรเกษตรและสหกรณ์ จัดทรรศการในงานเทศกาลปีใหม่ สี่เผ่าไทยศรีสะเกษ ประจำปี 2554 ในช่วงระหว่างวันที่ 27 ธันวาคม 2553 ถึงวันที่ 5 มกราคม 2554 ณ บริเวณสนามศาลากลางจังหวัดศรีสะเกษ โดยได้จัดแสดงนิทรรศการในงาน ดังนี้

- นิทรรศการผลงานวิจัยและพัฒนาของศูนย์ฯ ได้แก่ การขยายพันธุ์กล้วยไม้เขาพระวิหารโดยการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ การปรับปรุงพันธุ์เบญจมาศ กล้วยไม้ม้าวิ่ง กล้วยไม้นางอั้ว พริกจินดา พริกยอดสน พริกขี้หนูเลย มันเทศเพื่อการผลิตเอทานอลและรับประทานสด มะละกอ การจัดการธาตุอาหารสำหรับกล้วยไม้และเทคโนโลยีการผลิตมะลิลา

- นิทรรศการแสดงพันธุ์พืชของงานผลิตพันธุ์หลักของศูนย์ฯ

- นิทรรศการโครงการทับทิมสยาม 06 โดยพืชที่จัดแสดงมี กลุ่มกล้วยไม้ ได้แก่ กล้วยไม้สกุลม้าวิ่ง กล้วยไม้เขาพระวิหาร และกล้วยไม้เหลืองพิศมร กลุ่มสับปะรดสี และกลุ่มไม้ใบประดับ ได้แก่ อโกลนีมา เฟิร์นใบมะขาม เป็นต้น

ภายในงานมีการจำหน่ายเมล็ดพันธุ์พืชผัก ต้นพันธุ์ไม้ผล และไม้ประดับจากโครงการทับทิมสยาม 06 มีการตอบปัญหาชิงรางวัล และการสาธิต ได้แก่ สาธิตการขยายเชื้อไตรโคเดอร์มาสด การแปรรูปมะม่วงแช่อิ่ม การขยายพันธุ์มะขามเปรี้ยวโดยวิธีการทาบกิ่ง การขยายพันธุ์มะม่วงหิมพานต์โดยการเสียบยอด การขยายพันธุ์มะนาวโดยการติดตา การทำมะม่วงแช่อิ่ม และการทำชาจากพืชสมุนไพร

ผู้เขียน ได้รับเกียรติจากทางจังหวัดให้ร่วมเป็นคณะกรรมการตัดสินการประกวดผลผลิตทางการเกษตร ทำหน้าที่ตัดสินการประกวดผลผลิตทางการเกษตร จำนวน 10 ชนิด ได้แก่ มะพร้าวอ่อนน้ำหอม ข้าวโพดหวานฝักสด กล้วยน้ำว้าสุก กล้วยน้ำว้าแก่จัด มะละกอสุก หอมแดงศรีสะเกษ พริกพันธุ์จินดา พริกพันธุ์หัวเรือ ฝรั่งพันธุ์แป้นสีทอง และมันสำปะหลัง

หลังเสร็จพิธีเปิด นายสมศักดิ์ สุวรรณสุจริต ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ และนางนิภา สุวรรณสุจริต นายกเหล่ากาชาดจังหวัดศรีสะเกษ ได้เดินชมนิทรรศการภายในงาน และชมนิทรรศการของศูนย์ฯ โดยมี นายธวัชชัย นิ่มกิ่งรัตน์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยพืชสวนศรีสะเกษ ให้การต้อนรับ นำชมนิทรรศการ และมอบกระเช้าของที่ระลึก ซึ่งเป็นผลผลิตจากงานวิจัยและงานผลิตพันธุ์หลักภายในศูนย์ฯ