วันพุธที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2556

ทำสวนมะขามเปรี้ยวลดต้นทุน(ของตัวเอง)




ได้เดินทางไปเก็บตัวอย่างหอมแดง กระเทียม งานวิจัย แถบภาคเหนือ ไปพักอยู่ที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรตาก อยู่ใกล้ ๆ ที่พัก ระหว่างเส้นทางผ่านไป อ.แม่สอด มีตลาดชาวเขา ขายผักสด กล้วยไม้ป่า เมล็ดพันธุ์ผัก และอื่นๆ ตัวเองซื้อเมล็ดพันธุ์ผักชีหอมมา 2 รอบแล้ว เค้าขายกิโลกรัมละ 80 บาทเหมือนเดิม ได้ซื้อมะขามฝักใหญ่ ตามภาพที่ 1 เป็นฝักแห้ง ยาว 20-25 เซนติเมตร เราคากิโลกรัมละ 30 บาท เดินมาอีกร้านหนึ่ง ขายกิโลกรัมละ 25 บาท แต่เจ้านี้จะเป็นมะขามฝักใหญ่ที่ลักษณะฝักโค้ง  เลยไม่ซื้อ มะขามฝักใหญ่ เหมาะที่จะทำมะขามแช่อิ่มมากกว่าทำเป็นมะขามเปียก เพราะเวลาฝักแห้งแล้วแบน ไม่ค่อยมีเนื้อเลย แต่เมล็ดใหญ่มาก ๆ  และการมีฝักตรง จะเป็นลักษณะที่ดีกว่า ก็เลยซื้อมา 1 กิโลกรัม มาแคะเอาเมล็ดเพาะกล้าสำหรับปลูก โดยจะปลูกร่วมกับมะขามเปรี้ยว ศก.019 ซึ่งก็จะปลูกโดยใช้เมล็ดเช่นกัน จะมีโอกาสได้มะขามเปรี้ยวพันธุ์ใหม่หลายสายพันธุ์ (ถ้ามันกลายพันธุ์จากการผสมข้าม) ซึ่งวิธีนี้เป็นวิธีการที่ไม่แนะนำนะคะ แต่ลอกเลียนแบบได้ และผู้ลอกเลียนแบบ โปรดใช้วิจารณญาณ (ฮาฮา ที่ก็ที่เรา สวนก็สวนเรา เงินก็ของเรา เวลาที่เสียไปก็ของเรา ห้ามมาว่าเรา) ตัวเองจะลดต้นทุนการปลูกจากการใช้กิ่งพันธุ์ เนื่องจากได้เห็นวิธีการปลูกมะม่วงหิมพานต์ของจีน ตามภาพที่ 2-3 จะเห็นว่าเค้าปลูกจากเมล็ด แล้วมีการตัดต้นสูงประมาณ 30 เซนติเมตร เริ่มให้ผลผลิตเมื่อต้นสูงแค่เอว และให้ผลผลิตมากขึ้น เมื่อต้นเลยหัวไปหน่อยหนึ่ง มะม่วงหิมพานต์นี้ก็เจริญได้ดีจัง ดินเป็นทรายจัดยังงาม (ภาพเค้าเล่าเรื่อง)
            จะลงปลูกฝนนี้ละคะ ใช้ระยะปลูก 6 x 6 เมตร ด้วย (คำแนะนำ 8 x 8 เมตร) ปีหน้าต้นฝน จะตัดยอด และควบคุมทรงพุ่มต่อไป (แล้วจะมาอัฟเดตเรื่องสวนมะขามเปรี้ยวเรื่อยๆ)

วันพุธที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

มะขามเปรี้ยว


                                   ทั้ง 3 ภาพ คือ มะขามเปรี้ยว ศก.019
มะขามเปรี้ยวเป็นพืชที่ปลูกกันมานาน โดยจะพบตามหัวไร่ปลายนา ในที่สาธารณะต่าง ๆ รวมทั้งตามบ้านหรือสวนหลังบ้าน ซึ่งจะพบเห็นกระจายทั่วไปในทุกภาคของประเทศ โดยเฉพาะในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แต่ในปัจจุบันมะขามเปรี้ยวเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญอีกชนิดหนึ่ง สามารถส่งเป็นสินค้าออกทำรายได้สูงปีละกว่าร้อยล้านบาท และความต้องการของตลาดมีแนวโน้มสูงขึ้นทุกปี นอกจากนี้ยังเป็นไม้ผลที่แทบทุกส่วนให้ประโยชน์แบบเอนกประสงค์ อาทิเช่น ใช้ทำเป็นเครื่องใช้ในครัวเรือน ใช้บริโภคเป็นอาหาร ใช้เป็นสมุนไพรและใช้แปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ชนิดต่าง ๆ มากมาย

พันธุ์
                ปัจจุบันมีมะขามเปรี้ยวพันธุ์ดี ซึ่งเป็นพันธุ์แนะนำของกรมวิชาการเกษตร ซึ่งได้จากการคัดเลือกพันธุ์ โดยศูนย์วิจัยพืชสวนศรีสะเกษ  จำนวน 1 พันธุ์ ได้แก่ มะขามเปรี้ยวพันธุ์ศรีสะเกษ 019 ซึ่งมีลักษณะดีเด่นของพันธุ์ดังนี้
           1.ให้ผลผลิตสูง โดยมีผลผลิตฝักแก่เมื่ออายุ 15 ปี เท่ากับ 107.8 กก./ต้น คิดเป็นผลผลิตเฉลี่ย 14 ปี เท่ากับ 25.6 กิโลกรัม/ต้น/ปี ซึ่งสูงกว่าพันธุ์ทั่ว ๆ ไป
            2.มีเปอร์เซ็นต์เนื้อสูงถึง 46%
            3.ฝักมีขนาดใหญ่ คิดเป็นจำนวนฝักแก่ประมาณ 51 ฝักต่อกิโลกรัม
            4.ลักษณะฝักตรง
            5.มีเปอร์เซ็นต์กรดทาร์ทาริคสูงถึง 17%
สภาพแวดล้อมที่เหมาะสม
                โดยทั่วไปมะขามเปรี้ยวสามารถขึ้นได้ดีในดินแทบทุกชนิด เช่น ดินทราย ดินเหนียว ดินลูกรัง แต่ดินที่เหมาะสมที่สุด คือ ดินร่วนปนทราย และควรมีการระบายน้ำดี มะขามเปรี้ยวเป็นพืชทนแล้ง สามารถเจริญเติบโตได้ในที่ค่อนข้างแห้งแล้ง
การปลูก
                ควรมีการไถพรวนกำจัดวัชพืชในแปลงปลูกเสียก่อน จากนั้นกำหนดหลุมปลูกในแปลงโดยใช้ระยะปลูก 8x8 เมตร (ระยะห่างระหว่างแถว 8 เมตร ระยะห่างระหว่างต้น 8 เมตร) ซึ่งจะปลูกได้ 25 ต้นต่อไร่ ควรมีการเตรียมหลุมปลูกขนาดกว้าง x ยาว x ลึก เท่ากับ 60 x 60 x 60 เซนติเมตร ดินที่ขุดจากหลุมปลูกให้แยกเป็นสองกอง คือดินชั้นบนและดินชั้นล่าง ผสมดินทั้งสองกองด้วยปุ๋ยคอกประมาณ 1-2 ปุ้งกี๋ต่อหลุม จากนั้นจึงกลบดินลงไปในหลุมตามเดิม โดยเอาดินชั้นบนลงไว้ก้นหลุมก่อนแล้วจึงกลบทับด้วยดินชั้นล่าง การปลูกควรปลูกต้นฤดูฝนเพราะเมื่อปลูกเสร็จแล้วต้นมะขามเปรี้ยวที่ยังเล็กอยู่ จะได้รับน้ำฝนสามารถตั้งตัวได้ดีก่อนเข้าถึงฤดูแล้ง ต้นมะขามเปรี้ยวที่ปลูกใหม่ควรมีหลักยึด เพื่อให้ต้นมะขามเปรี้ยวขึ้นตรงไม่โค่นลงง่ายเนื่องจากแรงลม หากปลูกด้วยกิ่งทาบหลังปลูกจำเป็นต้องแกะเอาเชือกฟางหรือผ้าพลาสติกตรงรอบต่อออกก่อน เพราะถ้าไม่ได้แกะออกจะทำให้ต้นมะขามเปรี้ยวแคระแกรน หรืออาจตายได้
การดูแลรักษา
                การให้น้ำ ในระยะปลูกใหม่หากฝนยังไม่ตก จำเป็นต้องรดน้ำทุก วัน ประมาณ 1 สัปดาห์จนกว่าจะตั้งตัวได้ จากนั้นจึงรดให้ห่างกว่าเดิม อาจจะเป็น 3 หรือ 7 วันต่อครั้ง เมื่อต้นมะขามเปรี้ยวโตให้ผลผลิตแล้ว ควรให้น้ำในช่วงฝนทิ้งช่วง จะช่วยให้ได้ผลผลิตสูงและคุณภาพดี
            การใส่ปุ๋ย สำหรับมะขามต้นเล็กยังไม่ออกผล (อายุ 1-3 ปี) ควรให้ปุ๋ยเคมีสูตร 12-24-12 อัตรา 450 กรัมต่อต้น ในปีแรกแบ่งใส่ 3 ครั้ง จำนวน 100 150 และ 200 กรัม ตามลำดับ สำหรับปีต่อ ๆ ไป ให้เพิ่มปุ๋ยมากขึ้นตามจำนวนอายุที่มากขึ้น เมื่อมะขามติดผลแล้วควรใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 13-13-21 โดยแบ่งใส่ 2 ครั้ง คือ ช่วงต้นฝนและปลายฝน ซึ่งจะช่วยให้มีการติดผลมากขึ้น อัตราที่ใส่คำนวณจากสูตรดังนี้
          จำนวนปุ๋ยที่ใส่ (กิโลกรัม) = อายุต้นมะขาม
                                                   2
โรคแมลงที่สำคัญและการป้องกัน
                1.โรคราแป้ง เกิดจากเชื้อราออยเดียม (Oidium sp.) เข้าทำลายส่วนของใบอ่อน กิ่งอ่อน และฝักอ่อน ถ้าระบาดมากจะทำให้ส่วนที่เป็นแห้งตายได้ ช่วงที่ราแป้งระบาดมากที่สุดคือช่วงต่อระหว่างฤดูฝนกับฤดูหนาว
            การป้องกันกำจัด โดยใช้สารเคมีพวก ไดโนแคป (dinocap) เช่น คาราเทน 25% WP อัตรา 30 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือพวกไตรดิมอร์ฟ เช่น คาลิกซิน พ่นเมื่อพบการระบาดทุก 5-7 วันต่อครั้ง
            2.หนอนเจาะลำต้นและกิ่ง จะเข้าทำลายกิ่งมะขามโดยทำลายกิ่งที่ค่อนข้างเล็กเป็นส่วนใหญ่ทำให้กิ่งแห้งตาย
            การป้องกันกำจัด ตัดกิ่งที่ถูกหนอนทำลายไปเผา หมั่นตรวจดูสภาพกิ่งและลำต้นของมะขาม หากพบเป็นรูและมีร่องรอยการทำลาย คือ เป็นขุย ๆ ให้ใช้สารป้องกันกำจัดแมลงประเภทดูดซึม ได้แก่ คาร์โบซัลแฟน เช่น พอสซ์ 20%EC พ่นเข้าไปในรูแล้วเอาดินเหนียวอุดไว้
            3.หนอนเจาะฝัก เกิดจากผีเสื้อวางไข่เป็นกลุ่ม ๆ ละ 2-3 ฟอง ที่ใบหรือฝักมะขาม เมื่อฟักออกมาเป็นตัวหนอน ๆ จะเจาะเข้าไปในฝักโดยกินบริเวณผิวเปลือกก่อน จากนั้นจะเจาะกินเข้าไปภายในฝัก
            การป้องกันกำจัด หมั่นตรวจดูฝักที่ถูกหนอนทำลายร่วงหล่นตามโคนต้น ให้เก็บไปเผาหรือทำลาย และใช้สารป้องกันกำจัดแมลงกลุ่มคาร์บาริล (carbary) เช่น เซฟวิน 85% WP อัตรา 45 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร พ่นป้องกันในระยะที่ฝักมะขามยังอ่อน ทุก 5-7 วันต่อครั้ง
            4.หนอนปลอก เกิดจากผีเสื้อกลางคืนตัวผู้มีขนาดเล็ก มีหนวดคล้ายแปรงหวีผม แต่ตัวเมียไม่มีปีกและขา อาศัยและวางไข่อยู่ในปลอก เมื่อไข่ฟักเป็นตัว ตัวอ่อนจะออกมาแทะเล็มและกัดใบมะขามพร้อมกับทำรังหุ้มตัวและเกาะอยู่ใต้ใบหรือตามก้านใน
            การป้องกันกำจัด ใช้สารป้องกันกำจัดแมลงพวก คาร์โบซัลแฟน (carbosulfan) เช่น พอสซ์ 20%EC อัตรา 50 ซีซีต่อน้ำ 20 ลิตร พ่นบริเวณต้น เมื่อพบว่ามีการระบาดทุก 7-10 วันต่อครั้ง
การเก็บเกี่ยว
            มะขามเปรี้ยวจะแก่และเก็บเกี่ยวได้ในช่วงเดือนธันวาคมถึงมีนาคม ของปีถัดไป ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับแหล่งที่ปลูกและสภาพดินฟ้าอากาศด้วย การเก็บเกี่ยวควรใช้กรรไกรตัดแต่งกิ่งตัดที่ขั้วให้หลุดออกจากกิ่ง ถ้ามะขามต้นโตใช้บันไดขึ้นเก็บเกี่ยวฝักที่อยู่สูง
            หลังจากเก็บเกี่ยวแล้วนำฝักมะขามเปรี้ยวมาแกะเอาเปลือกและเมล็ดออกนำเนื้อมะขามที่แกะได้ซึ่งเรียกว่า มะขามเปียก บรรจุลงในภาชนะต่าง ๆ เช่น ถุงพลาสติก หรือเข่ง เพื่อจำหน่ายต่อไป
การขยายพันธุ์
            มะขามเปรี้ยวปัจจุบันสามารถขยายได้หลายวิธี เช่น การขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด การทาบกิ่ง การต่อกิ่ง หรือการเปลี่ยนยอด การติดตา เป็นต้น แต่ที่นิยมและได้ผลดีก็คือ การขยายพันธุ์โดยวิธีการทาบกิ่งและการต่อกิ่ง
คุณค่าอาหารของมะขามเปรี้ยวในส่วนที่บริโภคได้ 100 กรัม
น้ำ                                38.7                  กรัม
พลังงาน                         214                   แคลอรี
ไขมัน                            0.2                    กรัม
คาร์โบไฮเดรต                  56.7                  กรัม
เส้นใย                            1.9                    กรัม
โปรตีน                           2.3                    กรัม
แคลเซียม                       81.0                  มิลลิกรัม
ฟอสฟอรัส                      96.0                  มิลลิกรัม
เหล็ก                             1.3                    มิลลิกรัม
วิตามิน เอ                       17.0                  หน่วยสากล
วิตามิน บี 1                     0.22                  มิลลิกรัม
วิตามิน บี 2                     0.08                  มิลลิกรัม
ไนอาซีน                         1.1                    มิลลิกรัม
วิตามิน อี                        3.0                    มิลลิกรัม
ที่มา : Food Composition Table for Use in East Asia, by FAO and U.s. Department of Health, Education and Welfare

การผลิตต้นพันธุ์ดีมะขามเปรี้ยว ศก.019
ขั้นตอนการปฏิบัติงาน
            1.การเตรียมต้นตอมะขาม
            กรอกถุงเพาะ ใช้ถุงพลาสติก ขนาด 4 นิ้ว x 6 นิ้ว ผสมดิน แกลบดิบ แกลบดำ ปุ๋ยคอก อัตราส่วน 1:1:1:1 เพาะเมล็ดมะขาม รดน้ำวันละครั้ง ต้นตออายุ 1 ปี นำไปทาบได้
                2.การเตรียมต้นพันธุ์ดี
            ตัดแต่งกิ่งต้นพันธุ์ดี หลังตัดแต่ง ใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 15 - 15 - 15 อัตรา 50 กิโลกรัมต่อไร่ กำจัดวัชพืช พ่นสารเคมีป้องกันกำจัดโรคและแมลง เดือนละ 1 ครั้ง
                3.การทาบกิ่ง 
            เริ่มทำการทาบกิ่ง ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ถึงเดือนกรกฎาคม หลังทาบอายุ 45 - 50 วัน เมื่อรากต้นตอเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล ให้ตัดกิ่งชำลงถุง โดยใช้ถุงพลาสติกดำขยายข้าง ขนาด 4 นิ้ว x 10 นิ้ว ผสมดิน แกลบดิบ แกลบดำ ปุ๋ยคอก อัตราส่วน 1:1:1:1
                4.การดูแลต้นมะขามเปรี้ยวพันธุ์ดี
            ใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 15 - 15 - 15 อัตรา 5 กรัมต่อต้น โดยการโรยในถุง พ่นธาตุอาหารเสริมทางใบ สารกำจัดโรคและแมลง ทุกเดือน หลังลงถุง 1 เดือน สามารถนำไปปลูกได้
            ศูนย์วิจัยพืชสวนศรีสะเกษ ได้ดำเนินการผลิตมะขามเปรี้ยว ศก.019 เพื่อจำหน่ายสู่เกษตรกร และผู้สนใจมาเป็นระยะเวลานาน โดยจำหน่ายในราคาต้นละ 25 บาท สนใจติดต่อสอบถามได้ที่ 0-4581-4581 หรือสนใจอยากเข้าเยี่ยมชมแปลงผลิตได้ที่ ศูนย์วิจัยพืชสวนศรีสะเกษ อ.เมือง จ.ศรีสะเกษ 33000
เอกสารอ้างอิง
จิรภา ออสติน. 2553. คู่มือปฏิบัติงานการผลิตพันธุ์หลักศูนย์วิจัยพืชสวนศรีสะเกษ. 31 หน้า
ชูศักดิ์ สัจจพงษ์. 2545. คำแนะนำการปลูกมะขามเปรี้ยว. (แผ่นพับ). ศรีสะเกษ : ศูนย์วิจัยพืชสวนศรีสะเกษ.