วันเสาร์ที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

ศักยภาพการให้ผลผลิตของมะละกอแขกดำศรีสะเกษ


ภาพที่ 1 จะเห็น ศักยภาพการให้ผลผลิตของมะละกอแขกดำศรีสะเกษ ที่สวนเกษตรกร จะเห็นว่าผลดกมาก ถึงแม้จะได้รับผลกระทบจากช่วงฤดูร้อนที่ผ่านมา ต้นมีการเจริญเติบโตดี ลำต้นมีขนาดใหญ่มาก เป็นมะละกอที่ปลูกช่วงเดือนพฤศจิกายน 2552

เมื่อวันที่ 16 กรกฏาคม 2553 ได้ออกเก็บตัวอย่างดินเพื่อการวิเคราะห์หลังการทดสอบมันสำปะหล้งที่ไร่เกษตรกร อ.กันทรารมย์ จ.ศรีสะเกษ เลยถือโอกาสไปเยี่ยมเยียนเกษตรกรผู้ปลูกมะละกอแขกดำศรีสะเกษ ที่เคยเข้าร่วมโครงการนำร่องการปลูกมะละกอแขกดำศรีสะเกษแบบมีส่วนร่วมของประชาชน ที่ศูนย์วิจัยพืชสวนศรีสะเกษ เป็นผู้รับผิดชอบแผนการปฏิบัติงาน เมื่อปี 2550-2551 ในการดำเนินงานโครงการฯ ปี 2551 ได้มีการจัดฝึกอบรมการผลิตมะละกอแขกดำศรีสะเกษในระบบเกษตรดีที่เหมาะสม ให้กับเกษตรกรผู้ประสงค์เข้าร่วมโครงการฯ เพื่อให้เกษตรกรสามารถปลูกมะละกอ ให้มีคุณภาพดีและได้มาตรฐานด้วย

คุณธีระพงษ์ แก้วพวง เป็นผู้หนึ่งที่เข้าร่วมโครงการฯ ในปี 2551 เดิมคุณธีระพงษ์ปลูกมะละกอแขกนวล พริกและหอมแดงในพื้นที่ที่ทำโครงการ แต่ในปัจจุบันได้เลิกปลูกพริกและหอมแดง เพราะว่าต้องมีการใช้สารเคมีมาก แล้วนำพื้นที่นั้นปลูกมะละกอแขกดำศรีสะเกษเพียงอย่างเดียว ในเนื้อที่ประมาณ 2 ไร่ ผลผลิตที่ได้จะจำหน่ายในตลาดท้องถิ่น มีพ่อค้ามาซื้อที่สวนทั้งผลบริโภคดิบและผลบริโภคสุก โดยจำหน่ายในราคาเดียวกัน คือ 12 บาทต่อกิโลกรัม เกษตรกรบอกว่าขายผลสำหรับบริโภคสุกกำไรดีกว่า แต่ก็ทนต่อราคาที่เร้าใจไม่ไหวในบางช่วงที่ราคาซื้อผลดิบถึงสวน 18 - 20 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งรุ่นนี้เก็บผลผลิตสำหรับบริโภคดิบจำหน่ายไปแล้ว 600 กิโลกรัม ถ้าใครเคยดูรายการก้าวไกลกับกรมวิชาการเกษตรที่เคยออกอากาศทางโทรทัศน์

http://it.doa.go.th/doatv/index.php?option=com_jmultimedia&view=media&layout=default&id=9

ได้มีการสัมภาษณ์คุณธีระพงษ์เกี่ยวกับการเข้าร่วมโครงการฯ ที่สวนมะละกอ ในช่วงสุดท้ายที่พิธีกรกล่าวปิดรายการ ถ้าสังเกตุต้นมะละกอที่อยู่ด้านหลัง จะเห็นว่าต้นมะละกอไม่ค่อยจะเจริญเติบโตดีนัก เนื่องจากขาดการบำรุงรักษา วันนั้นจึงได้แนะนำการปลูกและการดูแลมะละกอให้แก่คุณธีระพงษ์ เวลาผ่านไป 2 ปี พบว่า คุณธีระพงษ์มีพัฒนาการในการปลูกและดูแลมะละกอดีขึ้น มีการบำรุงต้นอย่างดี ส่วนหนึ่งอาจเกิดจาก ได้หันมาเพาะเห็ดฟางในโรงเรือน เป็นอาชีพเสริม (มีแนวโน้มว่าต่อไปจะกลายเป็นอาชีพหลักในอนาคต) โดยทุกเดือนจะนำวัสดุที่ใช้แล้วจากการเพาะเห็ดฟางมาใส่ต้นมะละกอ เฉลี่ย 10 กิโลกรัมต่อต้น (วัสดุที่ใช้เพาะเห็ดฟาง ใช้กากมันสำปะหลังเป็นหลัก บางครั้งขาดแคลนก็ใช้กากฝ้าย ส่วนผสมในสูตร มีการใช้ปูนจากหอย ยิบซัมร่วมด้วย และมีส่วนผสมอื่นๆ อีก รวมแล้ว 13 ชนิด) แล้วใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 สลับกับปุ๋ยเคมีสูตร 13-13-21 ครั้งละ 1 กระสอบต่อพื้นที่ 2 ไร่ ใส่หลังการใส่วัสดุที่ใช้แล้วจากการเพาะเห็ดฟาง ประมาณ 1-2 สัปดาห์ และไม่มีการใช้สารอื่นๆ อีกเลย ไม่มีปัญหาการเข้าทำลายของโรคแต่อย่างใด แต่ช่วงนี้เป็นฤดูฝน พบต้นเป็นโรครากและโคนเน่า 2 ต้น จึงได้แนะนำให้ใช้เชื้อไตโคเดอร์มา หมักกับวัสดุที่ใช้แล้วจากการเพาะเห็ดฟางก่อนนำไปใช้ และในช่วงฤดูร้อนที่ผ่านมามะละกอได้รับผลกระทบจากอากาศที่ร้อนทำให้ผลเปลี่ยนรูปร่างบ้าง แต่ไม่เป็นปัญหามาก เพราะผลผลิตสามารถขายได้ในตลาดท้องถิ่น

ส่วนในภาพที่ 3 เป็นภาพคุณบุญเจริญ เทียนป้อม เกษตรกรผู้เข้าร่วมโครงการฯ ปี 2550 ซึ่งได้ให้สัมภาษณ์ออกอากาศในรายการเดียวกัน ที่นำมาเสนอในครั้งนี้ เป็นเพราะอยากจะแสดงให้เห็นว่ามะละกอแขกดำศรีสะเกษ ถ้ามีการปลูกแบบอินทรีย์ ซึ่งเป็นการปลูกที่ไม่ใช้ปัจจัยการผลิตจากสารเคมีสังเคราะห์ รวมทั้งปุ๋ยเคมี ถ้ามีการบำรุงต้น และดูแลอย่างดี ก็สามารถแสดงศักยภาพการให้ผลผลิตได้เช่นกัน จะเห็นว่าคุณบุญเจริญปลูกพืชหลายชนิดในแปลงปลูก ที่เป็นหลักคือ กล้วยน้ำว้า ดินบริเวณที่ปลูกพืชนั้น เป็นดินที่ได้จากการขุดสระน้ำ นำมาถมให้ระดับพื้นที่แปลงสูงขึ้น


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น