วันอังคารที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2553

การใช้วัสดุคลุมที่เหมาะสม



การทำนาแบบโยนกล้ากำลังมาแรง เนื่องจากไม่ต้องจ้างแรงงานในการปักดำ ซึ่งหายากและค่าแรงแพงในช่วงฤดูการทำนา นอกจากนี้ยังสามารถควบคุมวัชพืชได้ดี ประหยัดเมล็ดพันธุ์ และผลผลิตสูงกว่าการทำนาหว่านข้าวแห้งที่เกษตรกรแถบภาคอีสานชอบทำกัน และต้องมีการพ่นสารกำจัดวัชพืชทุกครั้ง แต่ก็ยังไม่สามารถคุมได้ถ้าฝนทิ้งช่วงนานๆ การทำนาแบบโยนกล้านี้ เกษตรกรทำเองได้โดยใช้แรงงานภายในครอบครัว คนเดียวสามารถโยนกล้าได้มากกว่า 3 ไร่ ต่อวัน เสียเวลาเพียงเพาะกล้า และลงทุนอีกนิดหน่อย โดยการซื้อถาดเพาะ ซึ่งปัจจุบันนี้ก็ออกแบบให้มีจำนวนหลุมมากขึ้น ประหยัดลงไปอีก มีราคาถูก 7-10 บาทต่อถาดเท่านั้น และต้องใช้วัสดุคลุมที่เหมาะสม

ได้มีโอกาสไปเยี่ยมลุงอำนวย มหาดไทย ซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มเกษตรกรที่ได้รับการรับรองการผลิตพืชอินทรีย์แบบผสมผสานของกรมวิชาการเกษตร ลุงอำนวยปลูกพืชหลายอย่าง แต่ปลูกอย่างละเล็กละน้อยแบบพอมีพอกินอย่างพอเพียง ได้แก่ หอมแดง กระเทียม พริก มะละกอ และทำนา อยู่ที่บ้านเปือย ตำบลหนองแก้ว อำเภอกันทรารมย์ จังหวัดศรีสะเกษ พื้นที่ทำกินอยู่ในบริเวณฝายหัวนา ที่มีคลองน้ำพร้อมส่ง แต่ไม่เคยมีน้ำ เพราะกำลังมีข้อพิพาทกันเลยทำให้การดำเนินงานหยุดชะงัก

ปีนี้ลุงอำนวยก็ทำนาแบบโยนกล้าเหมือนกัน ใช้สูตรผสมดินเพาะกล้า คือ ดิน 1 ปี๊บต่อปุ๋ยอินทรีย์ 4 กำมือ (ปุ๋ยอินทรีย์ทำเอง เพราะมีโรงปุ๋ยอินทรีย์ชุมชนอยู่ในพื้นที่ที่ได้บริจาคที่ดินให้สร้าง และยังเป็นหมอดินอาสาของกรมพัฒนาที่ดินด้วย) โดยใช้ถาดเพาะ ขนาด 434 หลุม จำนวน 100 ถาด ใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวเพียง 5 กิโลกรัม พื้นที่ 1 ไร่ ใช้เพียง 50 ถาด ในช่วงแรก หลังเพาะกล้า ลุงอำนวยคลุมถาดเพาะกล้าด้วยตาข่ายพรางแสงสีดำ และตาข่ายสีฟ้า ปรากฏว่า ต้นกล้าขึ้นหรอมแหรม ไม่สม่ำเสมอ จึงได้เปลี่ยนมาใช้กระสอบป่านคลุมแทน คลุมอยู่ 5 วัน แล้วเปิดออก ต้นกล้าขึ้นสม่ำเสมอดี (ในภาพจะเห็นผลงานบางส่วนที่เกิดจากการคลุมถาดเพาะกล้าด้วยตาข่าย ส่วนที่งอกบ้างไม่งอกบ้างนั้นแหละ) อายุ 15 วัน จึงนำไปโยนได้

แสดงให้เห็นว่า ในการปลูกพืชทุกชนิดที่ต้องมีการคลุมแปลง การใช้วัสดุคลุมที่เหมาะสม มีส่วนทำให้การปลูกพืชประสบความสำเร็จได้ด้วยเช่นกัน ขอยกอีกตัวอย่างหนึ่ง คือ การปลูกผักอินทรีย์ของกลุ่มศีรษะอโศก จะมีการคลุมแปลงพร้อมทางเดินด้วยแกลบดิบหนามาก 2-3 นิ้ว สามารถคลุมวัชพืชได้ดี เวลาวัชพืชงอกขึ้นมา ก็ถอนออกง่าย แต่การใช้แกลบดิบคลุมแปลงปลูก ต้องระวังเวลาแกลบดิบสลายตัวจะใช้ธาตุไนโตรเจนในดิน ทำให้แย่งธาตุอาหารจากพืชทำให้พืชแสดงอาการใบเหลืองได้ ในกรณีการปลูกผักอินทรีย์ของกลุ่มศีรษะอโศกไม่ประสบปัญหานี้ เพราะมีการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ในปริมาณที่เพียงพอ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น